เที่ยวพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง

บางทีการมาเดินทางไปเที่ยวชมประวัติศาสตร์บนแผนดินพ่อขุนรามคำแหง ผ่านการชมโบราณวัตถุ โบราณสถานในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ รามคำแหง ช่วยเปิดโลกทัศน์ในมิติต่างๆ ของอดีตเชื่อมร้อยปัจจุบันได้น่าสนใจอย่างมาก

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง ตั้งขึ้นตามพระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองสุโขทัยในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานในเขตเมืองเก่าสุโขทัย เมืองโบราณใกล้เคียง และอีกส่วนหนึ่งเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ได้จากพิพิธภัณฑ์ในวัดราชธานีมาเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่นี่ ซึ่งแบ่งอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุเป็น 3 ส่วน ได้แก่

อาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งเป็น 2 ชั้น  เดินชมชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจทางโบราณคดี การขุดแต่งโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัยและโบราณสถานในจังหวัดใกล้เคียงเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และตาก ส่วนชั้นบน จัดแสดงศิลาจารึก สมัยสุขโขทัย พระพุทธรูปสำริด เทวรูป เครื่องศาตราวุธ โอง-ถ้วยชามสังคโลก  เงินตรา ระบบชลประทานสมัยสุโขทัย เป็นต้น

อาคารอนุสรณ์ลายสือไท เป็นอาคารสร้างใหม่ ตั้งอยู่ด้านหน้าของพิพิธภัณ์ฯ จัดแสดงนิทรรศการภาพ อาณาจักรสุโขทัย จากอดีตและปัจจุบัน” เช่น ที่ตั้ง ภูมิประเทศ ขอบเขตการปกครอง สภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวสุโขทัย
รวมทั้งการให้ข้อมูลด้านการพัฒนาบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กระทั่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ร่วมกับเมืองโบราณศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 2534
นอกจากนี้ ภายในอาคารยังจัดแสดงโบราณวัตถุหัวข้อต่างๆ ที่บอกเล่าความเป็นมาของอาณาจักรสุขโขทัยในอดีต อาทิ  
กลองมโหระทึกสำริด พบแพร่กระจายในแหล่งโบราณคดีในจีน แถปมณฑลยูนาน มณฑลกวางสี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมดองซอน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดและเจริญรุ่งเรืองขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงในประเทศเวียดนาม และบริเวณจีนใต้เมื่อประมาณ 2,100 ปีมาแล้ว  ในประเทศไทย พบกลองมโหระทึกสำริดทั่วทุกภาค เขตภาคเหนือตอนล่างได้พบกลองมโหระทึกสำริดแพร่กระจายในจังหวัดตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ 
บริเวณหน้ากลอง ตกแต่งลวดลายประดับ เช่น ลายพระอาทิตย์ เรือ นกน้ำชนิดต่างๆ เป็นต้นว่า นกกระเรียน นกยาง  กบ และ หอย ลวดลายบนกลองมโหระทึกเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมต่างๆ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ พิธีขอฝน และพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตและความตาย
ศิลปกรรมฮินดู เช่น ศิวลึงค์และโยนี แสดงถึงความสัมพันธ์ของพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า และความอุดมสมบูรณ์  ศิลปกรรมสมัยเขมร ที่ศิลปสุโขทัยได้รับอิทธิพลมา รวมทั้งพุทธปฏิมากรรม ปางต่างๆ  พระพิมพ์ เครื่องสังคโลก เทวรูป
อาคารปูนปั้นประติมาคาร จัดแสดงประติมากรรมปูนปั้น ที่ใช้สำหรับประดับตกแต่งปราสาท เจดีย์ วิหารและอาคารต่างๆ ที่พบจากโบราณสถานในเขตจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้มีการจัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่ สามารถศึกษารูปแบบศิลปะ ศาสนาและวิถีชีวิตของชาวสุโขทัยที่สะท้อนจากงานศิลปกรรมประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี 
อุโมงค์นิมิตวัดศรีชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ได้จำลองภาพจารชาดก ในสมัยสุโขทัยปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกวัดศรีชุม พุทธศตวรรษที่ 19-20  คำว่า “ห้าร้อยชาติ” หมายถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติในอดีต 500 ชาติภพ ภาพจารบนแผ่นหินชนวน  นำมาจัดแสดงพร้อมคำอธิบายชาดกแต่ละตอนไว้ในส่วนจัดแสดง “อุโมงค์นิมิตวัดศรีชุม”
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  ได้จำลองศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ซึ่งค้นพบโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้ที่เนินปราสาท เมืองเก่าสุโขทัย ปัจจุบันศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร  ข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง กล่าวถึง การคิดสร้างสรรค์อักษรไทย การปฏิบัติธรรม กระทำพุทธบูชา การประดิษฐ์อักษรไทย และการสรรเสริญพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็น “เอกสารมรดกความทรงจำโลก” โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2546ห้องพระธาตุ  โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระธาตุสีขาวขุ่น มีขนาดเท่าเม็ดทราย บรรจุภายในผอบทองคำภายในช่องกรุเจดีย์ทรายของโบราณสถานหมายเลข1 โดยเชื่อว่าเป็นพระอัฐิธาตุของพระอรหันต์สาวกองค์ใดองค์หนึ่ง
ถัดจากห้องพระธาตุจะเป็จส่วนจัดแสดงพระเครื่พระพิมพ์แบตบต่างๆให้ชมกัน
ส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุขนาดใหญ่ โบราณสถานที่เหลือเพียงส่วนฐานที่ได้รับการขุดแต่งและบูรณะ เมื่อ ปี พ.ศ.2544  ซึ่งได้พบพระธาตุและสิ่งของเป็นจำนวนมาก ที่บรรจุในเครื่องสังคโลกและเครื่องถ้วยจีน  มาการจำลองเตาเผาเครื่องสังคโลกแสดงให้เห็นรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตเครื่องสังคโลกสุโขทัย เป็นต้น
การได้เดินทางตามรอยอดีตของเมืองสุโขทัย ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุ ที่ถูกค้นพบเมื่อหลายร้อยปีก่อน แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในทุกมิติของอารยธรรมไทย ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบันได้เรียนรู้ และเข้าใจ รากทางวัฒนาธรรมของตนเอง เพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคต...
พิกัด
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
778 หมู่ 3 ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย 64210 · 
วันและเวลาทำการ. 
เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท , ชาวต่างชาติ 150 บาท
สอบถามเพิ่มเติม : โทร. 055-69-7367

เรื่องและภาพ Niki9

ขอบคุณข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/ramkhamhaeng/index.php/th/

 
 

Post a Comment

0 Comments